ขับรถชนของหลวง ประกันจะช่วยจ่ายหรือไม่ ?

Last updated: 15 ก.ย. 2565  |  1072 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ขับรถชนของหลวง ประกันจะช่วยจ่ายหรือไม่ ?

   อุบัติเหตุทางรถยนต์ อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อหากประมาท หรือพลาดพลั้ง นำมาซึ่งความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นของส่วนตัวหรือของผู้อื่น รวมถึงทรัพย์สินสาธารณะหรือที่เรียกว่า “ของหลวง” อาทิ เสาไฟฟ้า ต้นไม้ข้างทาง ป้ายจราจร ราวสะพาน และเสาสัญญาณไฟ เป็นต้น และนั่นคือที่มาของคำถามว่า ผู้ที่ขับขี่รถชนจะต้องจ่ายค่าเสียหายเท่าไหร่ และประกันรถยนต์ที่ทำไว้จะรับผิดชอบหรือไม่ วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน

ขับรถชนของหลวง มีความผิดหรือไม่?

   เมื่อผู้ใช้รถเกิดประสบอุบัติเหตุขับรถชนจนทำให้ของหลวงเสียหาย ไม่ว่าจะเป็น เสาไฟฟ้า หรือป้ายจราจร จะมีหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลของหลวงในส่วนนั้น ๆ อาทิ เสาไฟฟ้า อยู่ในความดูแลของหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรการไฟฟ้า หรือป้ายจราจร จะอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง ซึ่งผู้ใช้รถจะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่หน่วยงานนั้น ๆ 
   โดยเมื่อหน่วยงานรับเรื่อง ก็จะมีทีมงานส่งไปตรวจสอบความเสียหายโดยรอบ พร้อมคำนวณค่าเสียหาย และค่าแรงสำหรับการซ่อมแซมหรือรื้อถอน จากนั้นจึงส่งเป็นใบแจ้งหนี้ที่ได้คำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามความเสียหายที่เกิดขึ้น
   อีกทั้งยังมีความผิดจากการสร้างความเสียหายสาธารณสมบัติ โดยจะอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา หมวด 7 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ในมาตรา 360  "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ขับรถชนของหลวง เสียค่าปรับเท่าไหร่

   อุปกรณ์แต่ละชิ้นจะมีราคาไม่เท่ากัน ซึ่งหากผู้ใช้รถขับรถชน ก็จะต้องมีการจ่ายค่าเสียหายควบคู่กับค่าปรับอื่น ๆ โดยชดใช้ในราคาที่แตกต่างกันตามสภาพความเสียหาย อย่างไรก็ตามราคาทั้งหมดนี้เป็นเพียงการประเมินในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะในสถานที่เกิดเหตุจริง อาจมีความเสียหายอื่น ๆ ที่ทำให้ถูกคิดค่าเสียหายเพิ่มเติม รวมทั้งราคาอาจจะมากกว่า - น้อยกว่า ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานผู้รับผิดชอบแต่ละหน่วยจะเป็นผู้ชี้แจง ว่าของแต่ละชนิดมีค่าเสียหายที่ต้องจ่ายอยู่ที่เท่าไหร่ อาทิ

  • เสาไฟฟ้า เสาไฟ้าถือเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรการไฟฟ้าที่ขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่โดยจะมีทั้งการไฟฟ้านครหลวงหรือส่วนภูมิภาค หากเกิดการเสียหายจากอุบัติเหตุ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยจะดูจากความสูงของเสา และประเภทกำลังไฟ เช่น เสาไฟฟ้าแรงสูง เสาไฟฟ้าแรงกลาง และเสาไฟฟ้าแรงต่ำ สายไฟ หม้อแปลง หลอดไฟ รวมถึงค่าแรงที่จะต้องรื้อถอน และติดตั้งใหม่ จะมีราคาประมาณ 50,000-150,000 หรือถ้าเป็นเสาไฟไฮแมส หรือ เสาสูง (HIGH MAST POLE) ที่มีขนาดสูงตั้งแต่ 15-30 เมตร จะมีราคาสูงถึง 10,000- 300,000 บาท ทั้งนี้ถ้าหากเสาไฟฟ้าดังกล่าวพ่วงสายโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตจากเอกชนด้วย ก็จะมีการเพิ่มค่าเสียหายร่วมด้วย 
  • เสาไฟจราจร หากได้รับความเสียหาย จะมีราคาราว ๆ 8,000-15,000 บาท ต่อต้น ตามสภาพความเสียหายและขนาดของเสา
  • ป้ายจราจร ถือเป็นทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง ถ้าไปขับรถไปชนจนได้รับความเสียหาย จะมีราคาความเสียหายประมาณ 1,000-3,000 บาท ต่อต้น ตามสภาพความเสียหายและขนาดป้าย
  • แบริเออร์ จะมีราคาราว ๆ 800-1,500 บาท ต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุ และจำนวนที่เสียหาย
  • แผงกั้นจราจรแบบเหล็ก หากได้รับความเสียหาย จะมีราคาราว ๆ 1,000-5,000 บาท ต่อแผง ขึ้นอยู่กับขนาด หรือวัสดุ
  • กรวยจราจร จะมีราคาอยู่ที่ 200-800 บาท ต่อชิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของกรวย และจำนวนที่เสียหายทั้งหมด
  • เสาสีส้มล้มลุก หากได้รับความเสียหาย จะมีราคาราว ๆ 500 บาท ต่อต้น
  • ต้นไม้ จะมีสำนักงานเขตแต่ละเขต เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ และมีเทศบาลท้องถิ่นนั้น ๆ หากได้รับความเสียหาย จะขึ้นอยู่ที่เขตและเทศบาลเป็นผู้ประเมินราคา

ขับรถชนของหลวง ประกันรับผิดชอบ และจ่ายชดเชยไหม

   อีกหนึ่งข้อสงสัยที่ผู้ใช้รถอยากรู้ก็คือ หากเกิดชนทรัพย์สินของหลวงเสียหาย ประกันจะสามารถจ่าย
ได้หรือไม่ ? 

   ซึ่งหากผู้ใช้รถทำประกันเอาไว้ บริษัทประกันสามารถเป็นผู้ชดใช้ในส่วนของค่าเสียหายได้ ทั้งเคลมส่วนของรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย และทรัพย์สินราชการภายนอก หรือของหลวงได้ แต่จะขึ้นอยู่กับวงเงิน และเงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนด หากเกินกำหนด เจ้าของรถก็จะต้องรับผิดชอบส่วนที่เหลือเพิ่มเติมด้วยด้วยตนเอง โดยประกันแต่ละประเภท จะมีเงื่อนไขคุ้มครองค่าเสียหายจากการชนของหลวงที่แตกต่างกันดังนี้

  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 บริษัทประกันต้องเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของค่าเสียหายทั้งหมด ไม่ว่าจะชนอะไรก็ตาม แต่ขึ้นอยู่กับวงเงิน และสัญญาตามกรมธรรม์ที่ระบุในสัญญา หากเกินกำหนดเจ้าของรถก็จะต้องรับผิดชอบส่วนที่เหลือเพิ่มเติมด้วยด้วยตนเอง
  • ประกันรถยนต์ชั้น 2 บริษัทประกันจะรับผิดชอบเพียงบางส่วน โดยเจ้าของรถที่สร้างความเสียหายต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งภายในสัญญาและกรมธรรม์ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบส่วนไหน

   แต่สำหรับผู้ที่ถือประกันรถยนต์ประเภทอื่น ๆ ที่ประกันภัยไม่คุ้มครอง จะต้องรับผิดชอบทั้งหมด หากเกิดความเสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคุณจะมีประกันชั้นไหนก็ตาม ถ้าในกรณีเมาแล้วขับรถไปชนของหลวง จะถือว่าผิดตามสัญญาที่มีไว้ในกรมธรรม์ ทางบริษัทจะไม่รับผิดชอบในทุกกรณี 

   ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูล และราคาคร่าว ๆ ของทรัพย์สินสาธารณะสมบัติบนท้องถนนหรือของหลวง หากเกิดการขับรถชนจนเสียหาย ซึ่งยังไม่รวมถึงค่ารักษาพยาบาล ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จะตามมาเป็นหางว่าวหากเจ้าของรถพลาดพลั้งไปชนเข้าไม่ว่าจะเป็นเหตุสุดวิสัย หรือจงใจก็ตาม

   สิ่งสำคัญของการขับรถที่ปลอดภัยคือตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท เมาไม่ขับ และควรมีประกันรถยนต์ติดตัวไว้เพื่อช่วยเหลือในตอนเกิดอุบัติเหตุ ลดภาระค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นการขับรถอย่างมีสติ ปฏิบัติตามกฎจราจร จะเป็นการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างดีที่สุด 

ขอบคุณข้อมูลจาก : krisdika.go.thpea.co.thdoh.go.thcar.kapook.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้