Last updated: 7 ก.พ. 2566 | 344 จำนวนผู้เข้าชม |
กำลังเป็นประเด็นร้อนที่น่าจับตามองสำหรับกีฬาซีเกมส์ 2023 ครั้งที่ 32 ที่จะจัดขึ้นในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่ทางกัมพูชาใช้สิทธิ์ของการเป็นประเทศเจ้าภาพตัดการแข่งขัน มวยไทย ออกและแทนที่ด้วยกีฬา กุน ขแมร์ แทน โดยให้เหตุผลว่าเป็นกีฬาประจำชาติและเป็นต้นตำรับของมวยไทย
หลังจากที่มีประกาศออกมาก็เกิดประเด็นต่างๆ มากมายในโลกโซเซียล รวมไปถึงประเด็นที่ว่ามวยไทยเป็นผู้ลอกเลียนแบบกีฬากุน ขแมร์จริงหรือไหม ซึ่งก็เป็นการยากหากเราจะกล่าวว่าใครเป็นต้นตำรับของใคร เพราะด้วยรูปแบบกฏกติกาทีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก ทางเราจึงได้หยิบยกความแตกต่างของกีฬาทั้งชนิดมาทำให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
1. ต้นกำเนิด
มวยไทย - ใช้ในการต่อสู้กับข้าศึก ร่วมกับอาวุธมือถือชนิดต่าง ๆ เพื่อการกอบกู้ประเทศชาติ
กุน ขแมร์ - ใช้ต่อสู้ป้องกันตัวจากสัตว์ป่า
2. เหตุการณ์สำคัญ
มวยไทย - เมื่อมวยสากลเผยแพร่เข้ามาในปี ค.ศ. 1912 ได้มีวิวัฒนาการด้านกติกาและรูปแบบการแข่งขันมากขึ้น
กุน ขแมร์ - ถูกเขมรแดงกวาดล้างวัฒนธรรมไปในช่วงทศวรรษ 1970 ก่อนจะได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในภายหลัง
3. การออกอาวุธ
มวยไทย - ใช้การต่อสู้ด้วยเท้า เข่า หมัด ศอกเป็นอาวุธ เน้นออกอาวุธวงนอกเป็นหลัก
กุน ขแมร์ - มีท่าการออกอาวุธที่คล้ายคลึงกันแต่จะเน้นออกอาวุธวงในเสียมากกว่า
4. ถูกรับรองโดยองค์กรสากลของโลก
มวยไทย - ได้รับบรรจุการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
กุน ขแมร์ - ยูเนสโกรับรองให้กุน ขแมร์ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
แม้ว่ามวยไทยและกุน ขแมร์ ต่างก็ที่มาแหล่งกำเนิดจากรากฐานวัฒนธรรมแหล่งเดียวกันแต่เมื่อผ่านระยะเวลา ในปัจจุบันศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าก็ได้ถูกพัฒนาจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศนั้นๆ
เกร็ดความรู้
มวยไทย 5 สาย มีอะไรกันบ้าง ?
1. มวยลพบุรี
มวยลพบุรีนั้น ถือเป็นมวยไทยภาคกลาง เอกลักษณ์ของมวยลพบุรี คือ เป็นมวยที่ชกฉลาด มีการรุกรับที่คล่องแคล่วว่องไว ต่อยหมัดตรงแม่นยำ เรียกว่า “มวยเกี้ยว” หมายถึง มวยที่ใช้ชั้นเชิงเข้าทำคู่ต่อสู้ โดยใช้กลลวงมากมาย เคลื่อนตัวอยู่เสมอ หลอกล่อ หลบหลีกได้ดี สายตาดี รุกรับและออกอาวุธหมัด เท้า เข่า ศอกได้อย่างรวดเร็ว สมกับฉายา “ฉลาดลพบุรี” และเอกลักษณ์อีกอย่างที่เห็นได้ชัดคือ มีการพันมือครึ่งแขน แต่ที่แปลกและเด่นกว่ามวยสายอื่น ๆ คือ การพันคาดทับข้อเท้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมวยลพบุรี
2. มวยโคราช
มวยโคราชนั้น ถือเป็นมวยไทยภาคอีสาน เอกลักษณ์ของมวยโคราช คือ สวมกางเกงขาสั้น ไม่สวมเสื้อ สวมมงคลที่ศีรษะขณะชก มีการพันหมัดแบบคาดเชือกตั้งแต่หมัดขึ้นไปจรดข้อศอก เพราะมวยโคราช เป็นมวยชกหมัดวงกว้างหนักหน่วง ที่เรียกว่า “หมัดเหวี่ยงควาย” สมกับฉายา “หมัดหนักโคราช” ซึ่งการพันเชือกเช่นนี้เพื่อป้องกันการเตะ ต่อยนั่นเอง
3. มวยไชยา
มวยไชยานั้น ถือเป็นมวยไทยภาคใต้ เป็นศิลปะมวยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เอกลักษณ์ของมวยไชยา มีอยู่ 7 ด้าน การตั้งท่ามวยหรือการจดมวย ท่าครูหรือท่าย่างสามขุม การไหว้ครูร่ายรำ การพันมือแบบคาดเชือก การแต่งกาย การฝึกซ้อมมวยไชยา และแม่ไม้มวยไชยา
4. มวยท่าเสาและพระยาพิชัย
มวยท่าเสา ถือเป็นมวยไทยภาคเหนือ แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่ากำเนิดขึ้นเมื่อใด ใครเป็นครูมวยคนแรก แต่จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ทำให้ทราบว่าครูมวยไทยสายท่าเสาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง คือ ครูเมฆ เอกลักษณ์ของมวยท่าเสา คือ การจดมวยกว้างและให้น้ำหนักตัวไปทางด้านหลัง เท้าหน้าสัมผัสพื้นเบา ๆ ทำให้ออกมวยได้ไกล รวดเร็ว และรุนแรง สมกับฉายา “ไวกว่าท่าเสา” ส่วนกลยุทธ์มวยพระยาพิชัยดาบหักเป็นทั้งมวยอ่อนและแข็ง สามารถรุกรับตามสถานการณ์ รู้วิธีรับก่อนรุก เรียนแก้ก่อนผูก เรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเองและคู่ต่อสู้
5. มวยพลศึกษา
มวยพลศึกษา ได้ก่อกำเนิดมาพร้อมกับการจัดตั้งสามัคยาจารย์สมาคม เพื่อจัดเป็นสถานที่การออกกำลังกาย สำหรับประชาชนทั่วไป และได้มีการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีปรมาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชามวยไทยสายพลศึกษาที่มีชื่อเสียงคือ อาจารย์สุนทร ทวีสิทธิ์ หรือ อาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ ปรมาจารย์มวยที่มีชื่อเสียง มีความเชี่ยวชาญหมัด ซึ่งศึกษามาจากหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล ซึ่งได้ทรงศึกษาการชกมวยสากลของประเทศไทย จนได้ชื่อว่าเป็นบิดามวยสากลของประเทศไทย นอกจากหมัดแล้วยังเน้นความเร็ว จังหวะเข้า- ออกที่คล่องแคล่วว่องไว เรียกได้ว่ามวยพลศึกษาเป็นมวยครบเครื่อง สมกับฉายา “ครบเครื่องพลศึกษา”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.jaroenthongmuaythairatchada.com
8 พ.ย. 2567
19 ต.ค. 2567
7 ก.ย. 2567
12 ต.ค. 2567