วิธีป้องกันตัวจากอาการฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด หากไม่ระวัง อันตรายถึงชีวิต!

Last updated: 21 มิ.ย. 2567  |  511 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิธีป้องกันตัวจากอาการฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด หากไม่ระวัง อันตรายถึงชีวิต!


         ประเทศไทยกับอากาศร้อน จะเรียกว่าเป็นของคู่กันเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะหน้าร้อนของทุก ๆ ปี จะมีอากาศที่ร้อนมากเป็นพิเศษ ซึ่งเคยร้อนสูงสุดถึง 44.6 องศาเซลเซียส! ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดดสูง แต่จะไม่ให้ออกจากบ้านเลยก็เป็นไปได้ บทความนี้จึงมี วิธีป้อง สาเหตุการเกิดโรค และอาการของฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดมาฝากกัน

: จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รวบรวมสถิติไว้ว่า ในช่วงฤดูร้อน เคยมีผู้เสียชีวิตสูงสุด (ปี 2559) กว่า 60 ราย ซึ่งในปีนั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ย 38.1 องศาเซลเซียส และสูงสุด 44.6 องศาเซลเซียส

 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากพบผู้เป็น ฮีทสโตรก

 

1.  ให้นำตัวผู้ป่วยเข้าที่ร่ม จับผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าทั้งสองข้างให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด หากสวมเสื้อผ้าหนา ให้ถอดเสื้อผ้าบางส่วนที่ไม่จำเป็นออก เช่น เสื้อกันหนาว ถุงเท้า เครื่องประดับ เพื่อให้ร่างกายระบายอากาศได้ดียิ่งขึ้น
2.  พยายามทำให้ร่างกายผู้ป่วยเย็น โดยใช้น้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง เช็ดตามร่างกาย โดยเช็ดทวนรูขุมขน เน้นบริเวณหลังคอ ข้อพับ และขาหนีบ ห้ามใช้ผ้าเปียกคลุมตัวผู้ป่วย เพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำภายในร่างกาย หากเป็นไปได้ให้เปิดพัดลม หรือแอร์ร่วมด้วย
3.  หากผู้ป่วยยังมีสติดี ให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
4.  รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ยิ่งถึงมือหมอเร็วเท่าไหร่ โอกาสรอดชีวิตก็จะยิ่งสูง

 

7 วิธีดูแลตัวเองในหน้าร้อน ไม่ให้เป็น ฮีทสโตรก

1.  เมื่อต้องไปประเทศที่มีอากาศร้อนมาก ให้หลีกเลี่ยงการทำงานหรือการออกกำลังกายหนัก
2.  ดื่มน้ำ 1 – 2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่อากาศร้อนจัด และควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 8-10 แก้วตลอดทั้งวัน ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำจนรู้สึกกระหาย หรือริมฝีปากแห้ง
3.  สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน น้ำหนักเบา ไม่หนา และระบายความร้อนได้ดี อาจสวมแว่นกันแดด ทาโลชั่นกันแดด และกางร่ม เพื่อไม่ให้ร่างกายถูกแสงแดดโดยตรง
4.  ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง ถ้าจำเป็นควรออกกำลังกายเวลารุ่งเช้า และตอนเย็นจะดีที่สุด
5.  พยายามหลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ แก้น้ำมูกไหล ก่อนการออกกำลังกายหรือต้องอยู่บริเวณที่อากาศร้อนเป็นเวลานาน
6.  งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด เนื่องจากเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากขึ้น
7.  เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี ไม่ควรอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง หรืออยู่ในรถที่จอดกลางแดด เพราะภายในรถ อุณหภูมิอาจสูงได้ถึง 50 องศาเซลเซียส

 

 

และฮีทสโตรก เกิดจากอะไร? ใครบ้างที่ต้องระวัง?


         ฮีทสโตรก (Heat Stroke) คือ ภาวะที่อุณหภูมิภายในร่างกายสูงเกิน 40 – 41 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิร่างกายปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 36 – 37 องศาเซลเซียส) และไม่สามารถระบายความร้อนให้กลับมาปกติได้ ส่งผลต่อระบบอวัยวะภายในอย่างระบบประสาท หัวใจ และไต จนทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะวิกฤต ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาหรือบำบัดอาการอย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้

  สาเหตุของฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้ ดังนี้

โรคลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก (non-exertional heatstroke: NEHS) เกิดจากอุณหภูมิภายในอากาศสูงหรือร้อนจัด ทำให้ร่างกายไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ โดยอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้น เช่น ภาวะขาดน้ำ การสวมเสื้อผ้าที่หนาเกินไป การดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งยังอาจเกิดจากยารักษาโรคบางชนิดได้
โรคลมแดดที่เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก (exertional heatstroke: EHS) เกิดจากการออกแรงใช้กำลังที่หักโหมเกินไป เช่น นักกีฬาหรือทหารเกณฑ์ที่ฝึกหนัก ในอากาศร้อนจัด

  • ใครบ้างที่มีความเสี่ยง?

    -  นักกีฬาหรือทหาร ที่ต้องทำการฝึกซ้อมอย่างหนัก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องฝึกซ้อมกลางแจ้ง และไม่ได้เตรียมพร้อมร่างกายมาก่อน
    -  ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีอากาศหนาว เดินทางไปยังประเทศที่มีอากาศร้อน อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันได้
    -  ผู้ที่ต้องกินยาบางชนิด ซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้เกิดฮีทสโตรก เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้แพ้ ยาขับปัสสาวะ ยาระบาย หรือผู้ที่ใช้สารเสพติด เช่น ยาบ้า โคเคน
    -  เด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายที่ไม่แข็งแรงเท่าวัยอื่น ๆ จึงปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ช้า และเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้
    -  ผู้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์
    -  ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคความดันโลหิต หรือผู้ที่เคยเป็นโรคลมแดดมาก่อน

 

อาการ ฮีทสโตรก สังเกตได้อย่างไรบ้าง?

 
         ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เป็นโรคหนึ่งที่อันตรายมาก ซึ่งหากไม่ได้รับการบำบัดหรือรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายได้ ซึ่งวิธีสังเกตอาการของโรคฮีทสโตรก มีดังนี้

-  ตัวร้อนจัด มีไข้สูง กว่า 40 – 41 องศาเซลเซียส
-  รู้สึกปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
-  กระหายน้ำมาก
-  ในระยะเริ่มต้น มักมีเหงื่อออกมาก แต่หากผ่านไปสักพัก จะมีภาวะไร้เหงื่อ แม้อยู่ในสถานที่       ร้อนจัด แต่ไม่มีเหงื่อออก
-  มีอาการโซเซ เป็นตะคริว เริ่มมีพฤติกรรมที่ผิดปกติไป เช่น ก้าวร้าว ลุกลี้ลุกลน พูดช้า เพ้อ     สับสน เห็นภาพหลอน
-  รู้สึกเหนื่อย หายใจเร็ว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง
-  ปัสสาวะสีเข้มผิดปกติ
-  เป็นลม หรือหมดสติ


**หากมีอาการข้างต้น แล้วไม่ได้รับการรักษาหรือบำบัดเบื้องต้น จะทำให้อาการต่าง ๆ รุนแรงขึ้น การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลว เกิดอาการชักเกร็ง จนนำไปสู่อาการโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :

phuketinternationalhospital.com

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้